สืบเนื่องจากรายงานหลายฉบับ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ที่แสดงให้เห็นตรงกันถึงอุปสรรคและความท้าทายในการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพของคนข้ามเพศ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งในกลุ่มประชากรคนข้ามเพศ ผู้เกี่ยวข้อง และสังคมโดยรวม ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย จึงมีดำริที่จะเปิดการให้บริการทางด้านสุขภาพแก่คนข้ามเพศเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพ ให้กับกลุ่มประชากรคนข้ามเพศทุกกลุ่ม

การประชุมร่วมกับชุมชนคนข้ามเพศเพื่อรับฟังเสียงจากสมาชิกในชุมชน

เพื่อให้สามารถเข้าใจถึงความต้องการบริการทางสุขภาพ จากชุมชนอย่างแท้จริงศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย จึงได้จัดการประชุมร่วมกับ ชุมชนคนข้ามเพศในเดือนกันยายน ปีพุทธศักราช 2558 เพื่อรับฟังเสียงจากสมาชิกในชุมชนว่ามีความต้องการการบริการทางด้านสุขภาพในรูปแบบใด ซึ่งได้รับข้อสรุปจากชุมชนว่าควรมีการเปิดคลินิกสำหรับคนข้ามเพศโดยเฉพาะขึ้น โดยให้มีการจัดการให้บริการทางสุขภาพแบบองค์รวมเข้าถึงได้ง่าย และเปิดกว้างให้ชุมชนมีส่วนร่วม รวมทั้งเปิดให้บริการโดยคำ นึงถึงผลประโยชน์ของคนในชุมชนอย่างแท้จริง และควรให้บริการอย่างไม่ตัดสิน และเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของผู้รับบริการทุกคนอย่างเท่าเทียมคลินิกคนข้ามเพศภายใต้ชื่อ คลินิกสุขภาพชุมชนแทนเจอรีน จึงได้ถือกำเนิดและเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2558 ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) โดยมีการให้บริการด้านสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศแบบองค์รวม มีบุคลากรผู้ให้บริการทั้งที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกจากชุมชนคนข้ามเพศ ซึ่งบุคลากรทุกคนต้องผ่านการอบรมเรื่องความละเอียดอ่อนในการให้บริการทางสุขภาพแก่คนข้ามเพศ ก่อนจะสามารถเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยคลินิกนี้ยังถือเป็นต้นแบบในการให้บริการทางสุขภาพโดยมีชุมชน เป็นส่วนร่วมและเน้นย้ำถึงความสำคัญในความร่วมมือระหว่างบุคลากรผู้ให้บริการและพันธมิตรทั้งที่เป็น และไม่ได้เป็นสมาชิกจากชุมชนคนข้ามเพศอย่างเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมายังไม่เคยมีการจัดทำแนวทางการปฏิบัติในการให้บริการทางด้านสุขภาพแก่คนข้ามเพศสำหรับในประเทศไทยมาก่อน แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงนักวิจัยที่ต้องทำ งานร่วมกับชุมชนคนข้ามเพศจึงต้องปฏิบัติหน้าที่โดยการอ้างอิงคู่มือหรือแนวทางปฏิบัติจากต่างประเทศ ซึ่งมีความเหมือนและต่างจากบริบทของประเทศไทยหลายประการ ก่อให้เกิดอุปสรรคและความท้าทายในการใช้งานจริงอยู่บ่อยครั้งด้วย ความร่วมมือของศูนย์ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเกิดแนวคิดในการจัดทำแนวทางการปฏิบัติ ในการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศสำหรับประเทศไทยขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อเป็นต้นแบบในการใช้อ้างอิงในการให้บริการทางสุขภาพแก่คนข้ามเพศในประเทศไทย ซึ่งมุ่งหวังให้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในกลุ่มผู้ให้บริการในระดับปฐมภูมิ และผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจากทุกภาคส่วน อนึ่ง “คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศ” ฉบับนี้ นอกจากจะครอบคลุมเนื้อหาของการให้บริการทางการแพทย์ สำหรับการดูแลสุขภาพของคนข้ามเพศแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงการดูแลคุณภาพชีวิตของคนข้ามเพศในแง่มุมอื่นด้วย เช่น การดูแลให้คำปรึกษาเรื่องการข้ามเพศในแบบที่ไม่ใช้ยา หรือไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดการดูแลคนในครอบครัว และผู้ที่เกี่ยวข้องกับคนข้ามเพศการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับข้องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของคนข้ามเพศ ซึ่งถือเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญในการดูแลสุขภาพของคนข้ามเพศแบบองค์รวม

 

ที่มา: การให้บริการทางสุขภาพแก่คนข้ามเพศ (Transgender Children and Adolescents) : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)